วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประวัติอำเภอพร้าว



ประวัติความเป็นมาของอำเภอพร้าว

อำเภอพร้าวมีชื่อเรียกตามภาษาพื้นบ้านว่า "เมืองป้าว" เป็นเมืองโบราณที่มีชื่อเสียงในสมัยโบราณว่า “เวียง

พร้าววังหิน” หรือ “เวียงแจ้สัก” ปัจจุบันเรียกว่า “เมืองพร้าว” มีประวัติความเป็นมาปรากฏตามตำนานโยนก ดังนี้

พุทธศักราช 1780 “พระเจ้าราวเม็ง” ผู้ครองนครหิรัญนครเงินยาง(จังหวัดเชียงราย) มีมเหสีทรงพระนามว่า

“พระนางเทพคำข่าย” มีโอรสชื่อ “เม็งราย” พ.ศ.1801 พระเจ้าราวเม็งทิวงคต พระเจ้าเม็งรายพระราชโอรสได้ขึ้นครอบราชสืบต่อมา ในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา มีพระโอรส 3 พระองค์คือ (1) ขุนเครื่อง (2)ขุนคราม (3)ขุนเครือ

พุทธศักราช 1816 พระเจ้าเม็งรายทราบข่าวว่าทางหริภุญชัยนคร(เมืองลำพูน) อุดมสมบูรณ์พูนสุข จึงส่ง

”อ้ายฟ้าจาระบุรุษ” ไปกระทำวิเทโสบายกลศึกทางเมืองลำพูนนานถึง 7 ปี อ้ายฟ้าได้กระทำการสำเร็จ จึงทูลพระเจ้าเม็งรายเพื่อเกณฑ์ไพร่พลยกทัพไปตีเมืองลำพูน

พุทธศักราช 1823 พระเจ้าเม็งรายทรงให้ขุนคราม โอรสองค์ที่สอง ครองเมืองเชียงราย และพระองค์ได้ยก

ทัพไพร่พลมุ่งสู่เมืองลำพูน การเดินทัพถึงที่แห่งหนึ่ง พระองค์เห็นว่าท้องที่แห่งนี้เป็นชัยภูมิที่เหมาะสมตามตำราพิชัยสงคราม มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ จึงหยุดทัพเพื่อสะสมไพร่พลและเสบียงอาหารเพื่อให้กองทัพมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยตั้งค่ายคูประตูหอรบ อย่างมั่นคงแข็งแรงอยู่บนสันดอยแห่งหนึ่งชื่อ “เวียงหวาย” และขนานนามว่า “นครป้าว” บางตำนานว่า “นครแจ้สัก” หรือ “เมืองป้าววังหิน” (คำว่า “ป้าว” มาจากคำว่า “ป่าวร้องกะเกณฑ์ไพร่พล” ภาษาท้องถิ่นหมายถึง “มะพร้าว” เพราะลักษณะภูมิประเทศมีภูเขาล้อมรอบกลมกลืนเหมือนลูกมะพร้าว) เมืองคงสร้างขึ้นด้วยพลโยธาของพระเจ้าเม็งรายและยังสร้างไม่เสร็จพระองค์ได้ยกทัพสู่เมืองลำพูนต่อไป มุ่งทัพลงมาทางใต้เลียบฝั่งแม่น้ำปิงไปพบชัยภูมิอีกแห่งหนึ่ง แต่ภารกิจยังไม่บรรลุเป้าหมาย จึงเคลื่อนทัพเข้าที่ราบผืนนี้ทำการเกณฑ์ไพร่พลขึ้นใหม่เพื่อสร้างเมืองและขนานนามว่า “นครพิงค์” (นครพิงค์สร้างหลังเมืองป้าวประมาณ 15 ปี ประมาณ พ.ศ.1828)

ในเวลาต่อมาพระเจ้าเม็งรายทรงเสด็จมาครองเมืองนครพิงค์ที่สร้างขึ้นใหม่ และขนานนามเมืองที่สร้างขึ้น

ใหม่ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” และทรงให้ขุนเครือ ราชโอรสองค์ที่สามไปครองเมืองป้าว ขุนเครือได้บูรณะและสร้างต่อเติมเมืองป้าววังหิน (เวียงที่กล่าวนี้ อยู่ที่วัดพระเจ้าล้านทองถือว่าเป็นศูนย์กลางเวียง) จนได้ขนานนามว่า “นครป้าว” ขุนเครือครองเมืองป้าววังหินนานเท่าไรไม่ปรากฏหลักฐาน จนถึงปีสุดท้ายได้ถูก พระเจ้าเม็งรายลงทัณฑ์เกี่ยวกับการทำกาเมสุมิฉาตาลกับพี่สะใภ้ จึงถูกเนรเทศไปยังเมืองปาย (จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) หลังจากนั้นนครป้าวจึงลดลงมาเป็นเมืองลูกหลวง ในเวลาต่อมา กษัตริย์ผู้ครองนครล้านนาไทยไม่มีราชบุตร ก็ส่งขุนนางคนสนิทไปครองเมืองแทน จนกระทั่งสมัยพระเจ้าแกน(พ.ศ.1954-1958) พระองค์ส่งลูกเจ้าราชบุตรองค์ที่ 6 หรือเจ้าติโลกราช หรือพระเจ้านิโลกราช ไปครองนครป้าว นับเป็นองค์สุดท้ายที่ครองนครป้าวนับแต่สร้างนครป้าวมา(พ.ศ.1823) จนถึงปัจจุบัน(2550) มีอายุถึง 727 ปี

การปกครองสมัยนั้นเรียกหัวเมืองเป็นแขวง คือ แขวงเมืองพร้าว ผู้ดำรงตำแหน่งนายแขวงคนแรก คือ

นายจันทร์ (ไม่ทราบนามสกุล) มีนายแขวงปกครองติดต่อกันมาจนถึงสมัยขุนชำนินรการ ซึ่งเป็นนายแขวงคนสุดท้าย ในปี พ.ศ.2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเปลี่ยนจากนายแขวงมาเป็นนายอำเภอ ทำให้อำเภอพร้าวมีนายอำเภอเป็นผู้ปกครองบริหารราชการมาจนถึงปัจจุบันนี้

ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมของอำเภอพร้าวที่สำคัญ คือ

- ประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล ( ศาลหลักเมือง ) และสืบชาตาเมืองพร้าว ตำบลเวียง เป็นงานประจำปีของ

อำเภอ เชื่อว่า การบูชาศาลหลักเมืองและสืบชาตาเมืองพร้าว แล้วจะทำให้บ้านเมืองมีความร่มเย็น เป็นสุข ปราศจากทุกข์ภัย บัดเป่าภัยพิบัติต่าง ๆ ของเมืองพร้าว

- ประเพณีสรงน้ำพระเจ้าล้านทอง ตำบลน้ำแพร่ ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือของทุกปี เพื่อทรงน้ำ

พระพุทธรูปเจ้าล้านทอง ณ วันพระเจ้าล้านทอง เป็นการแสดงความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระเจ้าล้านทอง โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็น ความเจริญ ปัดเป่าเพศภัยต่าง ๆ แก่บ้านเมือง ทำให้อยู่อย่างมีความสงบสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น